3.การเลือกใช้โปรแกรมสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ CAI

โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI Authoring System) มีความหมายเดียวกันกับคำว่า โปรแกรมสร้างโปรแกรมบทเรียน (Authoring Program) คือ โปรแกรมประเภทหนึ่งที่ใช้ในการสร้าง CAI โดยผู้สร้างจะต้องทำการจัดเตรียม และออกแบบเนื้อหาไว้ก่อน เนื้อหาที่ออกแบบนั้นมิได้จำกัดเฉพาะในรูปแบบของตัวอักษรและภาพนิ่ง เหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยสื่อประสมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ภาพนิ่ง กราฟิก ตาราง กราฟ ข้อมูลเสียง ภาพเคลื่อนไหว ภาพวิดีทัศน์หรือภาพสามมิติ โดยผู้สร้างสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลสื่อประสมเหล่านี้ ให้ทันสมัย (Update) ได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้โปรแกรมช่วยสร้าง CAI ยังสามารถช่วยผู้สร้างในการจัดเรียงเนื้อหาในลำดับต่าง ๆ รวมทั้งสามารถช่วยในการสร้างแบบฝึกหัด และแบบทดสอบ เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ รวมทั้งประเมินผลการเรียนของผู้เรียนได้อีกด้วย
โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียน CAI มีอยู่ด้วยกันหลายโปรแกรม ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในขณะนี้ได้แก่ 4 โปรแกรมหลัก คือ
1.Macromedia Authorware โปรแกรม Authorware จะมีข้อเด่นที่ความสามารถในการนำเสนอบทเรียนในลักษณะสาขา (Branching) และเป็นโปรแกรมที่ใช้ไอคอน (Icon) ในการสร้างบทเรียน สามารถออกแบบบทเรียนให้ผู้เรียนมีการโต้ตอบ หรือมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเลือกตอบ การจับคู่ หรือการเติมข้อความ เป็นต้น
2.Macromedia Director โปรแกรม Director มีข้อเด่นทางด้านการทำภาพเคลื่อนไหว มีภาษาสคริปต์ของตัวเองเรียกว่า Lingo ช่วยให้สามารถเขียนโปรแกรมทำงานได้ตามต้องการ สามารถเขียนโปรแกรมในลักษณะวัตถุ (Object Oriented) ได้
3.Multimedia ToolBook ข้อเด่นที่โปรแกรมมีความยืดหยุ่น สามารถดำเนินเรื่องราวได้ตามที่นักออกแบบการเรียนการสอนต้องการได้เป็นอย่างดี โดยการพิมพ์คำสั่ง (Script) ลงในแต่ละวัตถุ หน้าแสดงผล (Page) หรือพื้นหลัง นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างพร้อมใช้ (Widgets) เพื่อช่วยในการสร้างงาน และแบบฝึกหัดในรูปแบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันโปรแกรมได้พัฒนาให้สามารถบันทึกไฟล์ในรูปแบบ HTML เพื่อแสดงผลทางอินเตอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี
4.Adobe Captivate 5 ข้อดีของโปรแกรม Adobe Captivate 5 ผู้ใช้สามารถออกแบบชิ้นงานในโปรแกรม Microsoft PowerPoint แล้วนำมาใส่ในโปรแกรม Adobe Captivate 5 เพื่อสร้างเป็น CAI ได้เลย ง่าย รวดเร็วแล้วก็สะดวก โปรแกรม Adobe Captivate 5 ยังสามารถทำงานร่วมกับโปรแกรม Adobe Photoshop ได้อีกด้วยในการออกแบบสื่อบทเรียน โดยที่นักเรียนไม่จำแบบจะต้อง Export ภาพออกมาเป็น JPEG โปรแกรม Adobe Captivate 5 สามารถที่จะอ่านค่า Layer ของชิ้นงานในโปรแกรม Photoshop ได้โดยอัตโนมัติ   โปรแกรม Adobe Captivate 5 ยังมีเครื่องมือที่ใช้สร้างสรรค์งานได้ง่ายและสะดวกอีกด้วย
แหล่งที่มา : https://th-th.facebook.com/Tecnocom55/posts/264422636994688
ขั้นตอนการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                   ในการกำหนดขั้นตอนการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  สามารถแสดงได้ตามขั้นตอนดังนี้                                                              
                   หรือในเมื่อทำการสำรวจปัจจัยต่างๆ  และได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเรียบร้อยแล้ว  จึงนำมาเป็นพื้นฐานในการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้เหมาะสม  โดยการกำหนดขั้นตอนการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  โดยทั่วไปนั้นก็เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ตรวจสอบและสามารถปรับปรุงแก้ไขในแต่ละขั้นตอนได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งอรพันธุ์  ประสิทธิรัตน์ (2530: 146 – 161) ได้กล่าวถึง  การสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้ตามลำดับขั้นตอน  ดังนี้
                   1.  เลือกเนื้อหาและกำหนดจุดมุ่งหมายทั่วไป  การพิจารณาเลือกเนื้อหาที่นำมาเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะต้องคำนึงถึงว่าเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนเป็นรายบุคคล  เนื่องจากการเรียนกับคอมพิวเตอร์เป็นการเรียนตัวต่อตัว  เมื่อได้เนื้อหาแล้วก็ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายทั่วไป  เช่น  ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เกิดความเข้าใจในเนื้อหาตอนนั้นๆ  ในจุดมุ่งหมายนั้นผู้สอนจะต้องคำนึงว่าในการสอนแต่ละครั้งหรือในบทเรียนแต่ละบทนั้นต้องการให้บรรลุวัตถุจุดหมายในข้อใด  แต่ทั้งนี้  จะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบอื่นๆ  ด้วย  เช่น  ประสบการณ์เดิมของผู้เรียน  ระยะเวลาในการเรียนและงบประมาณ  เป็นต้น
                   2.  วิเคราะห์ผู้เรียน  การที่จะเตรียมบทเรียนหนึ่งๆ  นั้น  จะต้องคำนึงถึงผู้เรียนว่าอยู่ในระดับใดประสบการณ์เดิมเป็นอย่างไร  เป็นเด็กที่เรียนเก่งหรืออ่อน   ทั้งนี้  จะได้เป็นแนวทางในการออกแบบบทเรียน  นอกจากนี้จะต้องพิจารณาว่า  ผู้เรียนนั้นอยู่ในวัยที่มีระยะเวลาของความสนใจในบทเรียนมากน้อยแค่ไหน  มีความสนใจและมีแรงกระตุ้นในการเรียนอย่างไร  ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยผู้สอนในการตัดสินใจเลือกเนื้อหา  กำหนดจุดมุ่งหมายตลอดจนการออกแบบบทเรียน
                   3.  กำหนดจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม  จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างบทเรียนหรือแม้แต่ในการสินวิธีอื่นๆ  เพราะจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมเปรียบเสมือนเข็มทิศหรือเครื่องชี้แนวทางเป็นเครื่องบ่งบอกทิศทางของบทเรียนว่าจะดำเนินไปอย่างไร  และเป็นเครื่องกำหนดรูปแบบของกระบวนการเรียนการสอน  ตลอดจนเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลด้วย  กล่าวโดยสรุป  จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม  ก็คือ  ความตั้งใจ  ซึ่งได้แสดงออกมาในเรื่องของความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน  หลังจากที่ได้บทเรียนนั้นๆ  แล้ว  พฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกมานั้นจะต้องวัดได้และสังเกตได้  เพื่อจะได้ประเมินว่าผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายเกิดการเรียนรู้ทั้ง 3  ด้าน  คือ  พุทธิศึกษา  ทักษะศึกษา  และเจตศึกษา  หรือไม่  ดังนั้น  การตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมจะต้องเกี่ยวกับด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสามด้านดังกล่าว
                   4.  วิเคราะห์เนื้อหาแยกเป็นหน่วยย่อย  นำเนื้อหาที่เลือกไว้แล้วมาแยกเป็นหน่วยย่อย ๆ หรือตอนสั้นๆ  เรียงจากง่ายไปหายาก  หรือจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่ไม่รู้  และถ้าเนื้อหาจะต้องต่อเนื่องกันเป็นลำดับก็จะต้องจัดลำดับไว้  โดยอาศัยจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมที่ได้กำหนดไว้แล้ว  ในการแยกเป็นหน่วยย่อยนั้น  ควรมีความสมบูรณ์ภายในหน่วยย่อยนั้น  เพื่อผู้เรียนจะได้ไม่สับสน  สิ่งที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็คือ  ในบทเรียนหนึ่งๆ  นั้น  ควรจะมีหน่วยต่างๆ  ดังนี้
                           4.1  หน่วยนำเข้าสู่บทเรียน  จะมีหน่วยเดียวหรือสองหน่วยก็ได้  เพื่อเป็นการเตรียมตัวผู้เรียนให้มีความพร้อม  ตื่นตัวต่อบทเรียนที่กำลังจะเรียน  รวมทั้งเป็นการชี้นำให้ผู้เรียนได้ทราบจุดมุ่งหมายทั่วๆ  ไปของบทเรียนนั้นๆ  หรืออาจมีข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างผู้เรียนกับกิจกรรมในการเรียนก็ได้
                           4.2  หน่วยเนื้อหาหลัก  จำนวนของหน่วยขึ้นอยู่กับเนื้อหาหลักสูตร
                           4.3  หน่วยสรุป  อาจมีเพียงหน่วยเดียวหรือสองหน่วยก็ได้เป็นการสรุปย้ำเตือนให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ในประเด็นสำคัญตามจุดมุ่งหมายของบทเรียนนั้น  เป็นการกระชับความคิดรวบยอดของผู้เรียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
                   5.  การออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ควรให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรูปแบบของบทเรียนโปรแกรมสำเร็จรูปมาประยุกต์ใช้  โดยทั่วไปแล้ว  บทเรียนในแต่ละตอนจะต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆ  ดังต่อไปนี้
                           5.1  คำแนะนำหรือชี้แนะ  ว่าผู้เรียนจะต้องทำอะไรบ้างในบทเรียนนี้
                           5.2  การทดสอบก่อนเรียน  เพื่อให้ทราบความสามารถหรือความรู้เดิมของผู้เรียน  ซึ่งผลการสอบจะเป็นตัวชี้ว่า  ผู้เรียนจะต้องเรียนบทเรียนนี้ทั้งหมด  หรือเรียนเพียงบางส่วนหรือข้ามไปตอนอื่นได้เลย
                           5.3  จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม  แต่ละตอนจะต้องแจ้งให้ผู้เรียนได้ทราบ  เพื่อให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจก่อนเรียนว่า  หลังการเรียนบทเรียนนั้นๆ  แล้ว  ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรบ้าง

                           5.4  ตัวเนื้อหาในแต่ละตอน   จะต้องพยายามทำเนื้อหาให้น่าสนใจ  ครอบคลุมเรื่องที่ต้องการจะสอนให้พอเหมาะ  อธิบายความในสิ่งที่ควรอธิบาย  ตัดตอนบางส่วนที่ไม่สำคัญให้กระชับขึ้นและถ้าเป็นไปได้เนื้อหานั้น  ควรช่วยให้ผู้เรียนมีความเพลิดเพลิน  และอยากเรียนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
                           5.5  แบบฝึกหัด  จะเป็นสิ่งที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ  เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า  เรียนรู้ในบทเรียนนั้นอย่างถูกต้องแม่นยำ  แบบฝึกหัดแต่ละข้อควรให้ข้อมูลย้อนกลับทันที  เพื่อเสริมแรงของการตอบสนองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
                           5.6 ทบทวนบทเรียน  เพื่อเน้นย้ำในสิ่งที่ผู้เรียนอาจจะจับจุดไม่ได้  หรือให้เกิดความคิดรวบยอดที่ถูกต้อง
                   6.  สร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนตามแบบ  เมื่อได้รูปแบบของบทเรียนแล้วก็ลงมือสร้างแบบ  วิธีที่ง่ายก็คือ  ร่างลงกรอบไว้ก่อนโดยเขียนหมายเลขกำกับไว้ ในแต่ละกรอบจะให้มีข้อความหรือรูปภาพอะไรก็จะต้องเขียนไว้ให้ครบตามที่ต้องการให้ปรากฏบนจอ (พร้อมทั้งคำสั่งที่จะให้ผู้เรียนเลือกหรือตอบสนอง)  บางครั้งอาจร่างเป็นแผนภูมิลำดับวิธี  ไว้ก่อนหรือหลังก็ได้  เพราะแผนภูมินั้นจะเป็นแนวทางในการใช้รหัสคำสั่งคอมพิวเตอร์และเป็นแนวการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในตอนต่อไป  สำหรับกรอบที่ร่างไว้นั้น  ควรร่างต่อเนื่องกันไปตั้งแต่ต้นจนจบในแต่ละตอน  ภายในกรอบจะต้องเขียนโน้ตสำหรับให้นักโปรแกรมใช้เป็นแนววางในการใช้คำสั่ง
                   7.  เขียนเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการนำเอากรอบต่างๆ  ที่ได้ออกแบบไว้แล้วมาเขียนเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์  เพื่อป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์  การป้อนข้อมูลและคำสั่งต่างๆ  จะต้องทำอย่างระมัดระวัง  เพื่อกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
                   8.  ทดลองปาประสิทธิภาพ  ก่อนที่จะนำไปใช้ควรที่จะทำการประเมินเสียก่อน  โดยผู้เชี่ยวชาญ  จากนั้น  จึงนำเอาบทเรียนไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง  แล้วหาประสิทธิภาพของโปรแกรม
                   9.  การนำไปใช้  เมื่อได้ค่าประสิทธิภาพของโปรแกรมว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงก็สามารถนำไปใช้ได้  แต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ  ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไข  ก็ควรทำการแก้ไขให้ดีเสียก่อน
                   10.  ประเมินผล  เพื่อปรับปรุงแก้ไข  การประเมินผลในขั้นนี้  จะทำหลังจากที่ได้นำบทเรียนโปรแกรมไปใช้ในระยะหนึ่ง  โดยอาจประเมินว่าผู้เรียน  เกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้หรือไม่  ยากหรือง่ายเกินไป  หรือหากผลการเรียนของผู้เรียน  อยู่ในเกณฑ์ต่ำก็ต้องปรับปรุงต่อไป



ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/210857

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น